การใช้เพลงประกอบการสอนวิชาภาษา
ผศ.สุนิศา ธรรมาวิวัฒน์
คงไม่ผิดหากจะกล่าวว่า การสอนวิชาภาษาโดยให้นักเรียนท่องจำอย่างเดียวนั้นเป็นสิ่งล้าสมัย แต่ทำอย่างไรผู้สอนจึงจะช่วยให้นักเรียนจำทั้งคำศัพท์และไวยากรณ์ได้อย่างรวดเร็วและไม่ลืมเมื่อเวลาผ่านไป จากการศึกษาเอกสารต่างๆในปัจจุบันพบว่า การเรียนการสอนวิชาต่างๆนั้นมีการใช้กิจกรรมที่หลากหลายประกอบการสอน เพลงก็เป็นกิจกรรมหนึ่งที่ถูกนำมาใช้บ่อยครั้ง เนื่องจากใช้ได้ทุกขั้นตอนของการเรียนการสอน เช่น ใช้ในการนำเข้าสู่บทเรียน ใช้ระหว่างการจัดการเรียนการสอน ใช้สรุปบทเรียน เป็นต้น ทั้งประโยชน์ของการใช้เพลงประกอบการสอนก็มีหลายประการ อาทิ ช่วยให้นักเรียนจดจำบทเรียนได้ง่ายขึ้นและจำได้นาน ช่วยให้บทเรียนที่ยากๆดูน่าสนใจ รวมทั้งช่วยสร้างบรรยากาศในการเรียนให้สนุกสนานเพลิดเพลิน ดังนั้นจึงไม่แปลกที่แม้แต่วิชาคณิตศาสตร์ก็ได้มีผู้ประยุกต์นำเพลงมาใช้สอนเพื่อให้นักเรียนจำสูตรคณิตศาสตร์ได้ สำหรับกลวิธีการใช้เพลงประกอบ การสอนวิชาภาษานั้น ได้มีผู้รวบรวมไว้จำนวนหนึ่ง แต่กลวิธีที่นำเสนอต่อไปนี้อาจเหมาะสมกับบุคลิกและประสบการณ์ของผู้สอนและผู้เรียนเป็นบางกลุ่มเท่านั้น ดังนั้นบางครั้งผู้สอนอาจต้องนำแนวคิดนี้ไปประยุกต์หรือดัดแปลงเพิ่มเติมเพื่อความเหมาะสม
1.Use of Symbols and Drawings
-พิจารณาบทเพลงที่สามารถใช้สัญลักษณ์ ภาพประกอบ หรือท่าทางตลอดจนการแสดงประกอบ ผู้แสดงอาจแสดงบทบาทเอง หรือมอบหมายให้ผู้เรียนกลุ่มหนึ่งแสดงตามใบงานที่เตรียมไว้
-ให้ผู้เรียนแปลสัญลักษณ์ ภาพประกอบ หรือท่าทางออกมาเป็นคำพูดหรือประโยคโดยผู้สอนช่วยแก้ไขคำผิด
-อธิบายบทเพลงโดยใช้ Yes-No and Wh-How Questions
-ฝึกการร้องเพลงตามลำดับขั้น
2.Listen and Write วิธีนี้เหมาะสำหรับฝึกทักษะการฟังโดยเฉพาะ มีขั้นตอนดังนี้คือ
-แบ่งผู้เรียนออกเป็นกลุ่มหรือแถวให้มีจำนวนเท่ากับบรรทัดของบทเพลง
-บอกให้ผู้เรียนคอยฟังเฉพาะบรรทัดของตัวเองเท่านั้น
-เปิดเพลงหรือร้องให้ฟัง หรือออกเสียงให้ฟัง 2-3 ครั้ง
-ให้แต่ละกลุ่มออกไปเขียนเนื้อเพลงที่อยู่ในความรับผิดชอบของตัวเองบน
กระดาน
-ช่วยกันตรวจสอบความถูกต้องและฝึกการออกเสียง
-ฝึกร้องเพลงตามขั้นตอน
3.Song Puzzles วิธีนี้เหมาะกับผู้เรียนที่เรียนรู้โครงสร้างทางภาษามากพอสมควร แต่ถ้าเป็นกลุ่มที่เริ่มเรียนจะให้ใช้ภาษาไทยประกอบไปด้วยก็ได้ ผู้สอนคัดเลือกบทเพลงที่มีคำศัพท์หรือความหมายที่ผู้เรียนเคยเรียนในชั่วโมงก่อน ทำตาราง song puzzles ให้ความหมายของคำศัพท์ทั้งในแนวตั้งและแนวนอน
4.Scrambled Words or Sentences วิธีนี้เหมาะสำหรับการทบทวนคำศัพท์และโครงสร้างของบทเพลงที่ได้เรียนมาแล้วในชั่วโมงที่ผ่านมา กำหนดให้ผู้เรียนเติมคำและข้อความที่ขาดหายไป หรือเรียงข้อความใหม่ตามลำดับเนื้อเรื่อง
5.Song Cloze วิธีนี้เหมาะสำหรับการเริ่มสอนบทเพลงใหม่และการประเมินผลหลังการสอน ใช้สำหรับการทบทวนคำศัพท์ วัดความจำ และการเรียนรู้โครงสร้างจากคำศัพท์ที่ขาดหายไป โดยปกติแล้วจะมี 2 แบบคือ
แบบที่ 1 การตัดคำศัพท์ออกเป็นช่วงๆ มีระยะห่างเท่ากัน เช่น ตัดออกทุกคำที่ 5 หรือคำที่ 7 แต่มีข้อเสนอแนะคือ ถ้าระยะห่างของคำน้อยเกินไป เช่น มีการตัดคำออกทุกคำที่ 3 หรือคำที่ 2 จะยากมากยิ่งขึ้น แต่ถ้าห่างกันมากก็จะง่ายขึ้น ซึ่งวิธีนี้ไม่ค่อยดีนัก เพราะไม่สามารถวัดความรู้ของผู้เรียนได้ตามที่ผู้สอนต้องการจริงๆ เพราะบางคำที่ตัดออกไปอาจเป็นคำที่ง่าย
แบบที่ 2 เลือกตัดออกเฉพาะคำที่ต้องการ วิธีนี้ผู้สอนสามารถเลือกตัดคำศัพท์ที่ต้องการหรือที่คิดว่าเหมาะสมสำหรับที่จะวัดความรู้ความสามารถและความจำของผู้เรียนที่ตัวเองสอนมาได้ทั้งนี้เพราะผู้สอนจะรู้ระดับความสามารถในการเรียนของผู้เรียนเป็นอย่างดี
ลำดับขั้นการสอนเพลงภาษา
1.Top Down Model เป็นลักษณะการสอนที่ยืดเนื้อหาจากภาพรวมหรือแนวกว้างไปหาส่วนย่อย โดยมีขั้นตอนดังต่อไปนี้
-ผู้สอนพูดคุยหรือเล่าเกี่ยวกับประวัติของบทเพลง ประเภทของบทเพลง และวัฒนธรรมที่เกี่ยวข้อง อาจใช้รูปภาพ แผนที่ อุปกรณ์ที่เตรียมไว้ประกอบการพูดคุย
-เปิดเพลงให้ฟังหรือร้องให้ฟัง 1-2 ครั้ง
-ตรวจสอบความเข้าใจเกี่ยวกับเนื้อหาและสาระของบทเพลง
-แจกเนื้อเพลง อธิบายคำศัพท์ วลี ประโยคที่ยาก ฝึกออกเสียงคำที่อ่านยาก อ่านบทเพลง
-ผู้เรียนฟังเทปหรือฟังผู้สอนร้องอีก 1 ครั้ง
-ผู้เรียนร้องตามผู้สอนทีละบรรทัดหรือทีละท่อนเพลง
-ร้องเพลงพร้อมกัน
-ฝึกท่าทางประกอบ
2.Bottom Up Model วิธีนี้มีหลักการที่ตรงข้ามกับวิธีแรก กล่าวคือ ยืดเนื้อหาจากส่วนย่อยไปหาส่วนรวม ดังตัวอย่าง
-แยกคำศัพท์ที่ยากออกมาสอนก่อน ฝึกการออกเสียงและอธิบายความหมาย
-ฝึกออกเสียงและเรียนรู้ความหมายของวลี ตลอดจนโครงสร้างที่ยากขึ้น
-เปิดเทปให้ฟังหรือร้องให้ฟัง 1-2 ครั้ง
-แจกเนื้อเพลงและอธิบายเพิ่มเติม
-ฝึกร้องตามผู้สอนทีละท่อน
-ร้องพร้อมกัน
-ฝึกกิจกรรมประกอบบทเพลง
เอกสารอ้างอิง
เรืองศักดิ์ อัมไพพันธ์.(2542).Teaching with songs.กรุงเทพฯ:ไทยวัฒนาพานิช.
2 ความคิดเห็น:
ดีครับ
มาอ่านกันเยอะๆนะคะ
กบ
แสดงความคิดเห็น